รายละเอียด |
: |
ประวัติการสร้างพระพุทธสิหิงค์ รุ่นแรก ปี2530 สำหรับวัตถุมงคลทางสาย จตุคามรามเทพ ที่ได้มีการจัดสร้างกันมา ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน ในการสร้างในยุคแรกนั้น พระพุทธสิหิงค์ รุ่นแรก ปี ๓๐ นั้น น่าพูดกันได้อย่างเต็มปากว่า เป็นของดีที่ทรงคุณค่า แต่กลับถูกลืม และถูกกล่าวขานถึงน้อยมาก ทั้งที่เนื้อหามวลสาร ตลอดจนพิธีรวมถึงวาระในการจัดสร้างก็เป็นคราวเดียวกับ การสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช แต่ในความเป็นจริงแล้ว อานุภาพแห่งความศักดิ์สิทธิ์ก็มิได้ลดน้อยถอยลง หรือต่างจากการห้อยบูชาแขวนองค์พ่อจตุคามฯ แต่อย่างใด เมื่อครั้งที่ ได้มีการเริ่มสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์พ่อจตุคามรามเทพที่ประทับร่างทรงได้ชี้แนะทางคณะกรรมการผู้จัดสร้าง เห็นควรให้มีการจัดสร้างวัตถุมงคล โดยเป็นการจำลองพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมา ท่าน พล.ต.ท.สรรเพชร ธรรมาธิกุล จึงเป็นผู้ออกแบบรูปทรง ส่วนผู้ที่เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ คือ อาจารย์มนตรี จันทพันธ์\n\nรูปทรงพุทธพิมพ์เป็นรูปทรงแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบ “ชิ้นฟัก” ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ประทับนั่งปางมารวิชัย บนอาสนะฐานบัวเล็บช้าง ๒ ชั้น รองรับด้วยฐานเขียง ประทับอยู่ภายในซุ้ม เส้นซุ้มแกะเป็นรูปก้นหอย หรือสะดือทะเลน้อยใหญ่ จำนวน ๒๑ วง และรองรับฐานซุ้มด้วยฐานหน้ากระดาน ๓ ชั้น ส่วน ด้านหลัง เป็นรูปราหูอมสุริยัน-จันทรา ด้านล่างกำกับด้วยยันต์หัวใจพระคาถา ๓ ตัวคือ ยันต์หัวใจธรณี, หัวใจมนุษย์ และหัวใจพระคาถากำกับธาตุ ตามคติธรรมชาวศรีวิชัย ในการจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์ในปี ๓๐ นั้น เนื่องจากจำนวนในการจัดสร้างพระในครานั้นมีมากเป็นจำนวนหลักแสนองค์ ซึ่งมีจำนวนการสร้างโดยประมาณสูงกว่า พระผงสุริยัน-จันทราปี ๓๐ เกินกว่าห้าเท่าตัว เพื่อให้ทันกับระยะเวลาในการจัดสร้าง แม่พิมพ์จึงมีหลายบล็อก\n\nรายละเอียดการพิจารณาพิมพ์พระพุทธสิหิงค์ เมื่อสังเกตดูให้ดีจะมีลักษณะเป็นพิมพ์ทรงเดียว เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันในปลีกย่อย หรือที่เรียกว่าต่างแม่พิมพ์กัน ของพิมพ์ทรงด้านหน้า ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป คือ ลักษณะของเกศที่แบ่งเป็น ๓ ลักษณะ เช่น เกศบัวตูม, เกศแหลม, เกศยาว (คล้ายรูปเปลวเพลิงชนซุ้ม) ส่วนจุดต่างที่องค์พระยังแบ่งเป็น มีเม็ดพระถัน (หัวนม) และไม่มีเม็ดพระถันด้วย ถ้าสังเกตลักษณะวรกายขององค์พระพุทธสิหิงค์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า องค์พระจะมีลักษณะอวบอ้วนสมบูรณ์ พระอุทรมีลักษณะพลุ้ยเล็กน้อย ทั้งปรากฏให้เห็นถึงเส้นจีวร และเส้นสังฆาฏิ บางองค์พระอังสกุฏ (ไหล่) ข้างขวาจะกว้าง พระพาหา (แขน) จะอ่อนเข้าหาองค์เล็กน้อย ซึ่งโดยมากแล้ว พระพาหาข้างขวา จะอยู่ในลักษณะกางพระกัปปะระ (ศอก) เล็กน้อย ส่วนในรูปของ พระราหู ด้านหลังก็มีการจัดแบ่งลักษณะเป็น ๒ แบบด้วยกันคือ แบบราหูทรงเครื่อง ซึ่งรูปราหูจะมีลวดลายที่สวยงามด้วยเครื่องทรง กับ ราหูแบบธรรมดา ซึ่งราหูจะเป็นรูปเรียบง่ายไม่ทรงเครื่อง ในส่วนของเนื้อหาและมวลสาร พระพุทธสิหิงค์ ปี30 ทั้งหมดนั้น ด้วยมีลักษณะเป็นพระเครื่องชนิดเนื้อผงเพียงอย่างเดียว และเป็นเนื้อเดียวกันกับพระผงสุริยัน-จันทราปี ๓๐ มวลสารที่สำคัญ เช่น ไม้ตะเคียนทองหลักเมือง, ปูนเปลือกหอย, ปูนหิน, ดินสังเวชนียสถานทั้ง ๔, ดิน ๗ ป่าช้า, แร่ ๗ เหมือง, ข้าวสุก ๗ นา, ผงกะลาตาเดียว, เกสรดอกไม้๑๐๘ ชนิด, ว่านมงคล ๑๐๘ ชนิด, น้ำตาลอ้อย, น้ำผึ้งหลวง, กล้วย, เกลือ, อับเพชร, น้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ บ่อ, ผงอิทธิเจ, น้ำมันจันทน์, เงิน, ทอง, นาก\n สำหรับเนื้อพระพุทธสิหิงค์ปี ๓๐ สามารถจัดกลุ่มสีสันวรรณะได้เป็น ๔ กลุ่มหลักๆ คือ\n\n ๑. เนื้อสีขาว ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยผงปูนเปลือกหอย สีที่ปรากฏจะประกอบไปด้วยสีขาวล้วน, ขาวอมส้ม (ผสมผงว่านเล็กน้อย)\n\n ๒. เนื้อสีน้ำตาล ซึ่งมีส่วนผสมค่อนข้างจะมีส่วนผสมหลายชนิด จึงทำให้เนื้อพระที่ออกมาเป็นสีน้ำตาล มีความหลากหลายมาก แต่ส่วนผสมหลัก คือปูนเปลือกหอย, ผงถ่าน และผงไม้ตะเคียนทอง สีที่พบเห็นเท่าที่รวบรวมได้ ได้แก่ สีน้ำตาลอ่อน ซึ่งมีสีคล้ายสีของกาแฟเย็น (แก่ปูนเปลือกหอย) สีน้ำตาลอมดำ ซึ่งมีส่วนผสมของผงไม้ตะเคียนทอง และผงดำค่อนข้างมาก\n\n ๓. เนื้อสีน้ำตาลอมแดง ซึ่งมีสีออกทางสีเปลือกมังคุดแห้ง จะมีส่วนผสมของเนื้อผงว่านล้วนๆ ข้อที่น่าสังเกตของสีน้ำตาล ก็คือ จะมีผงไม้ตะเคียนทองผสมเกือบทุกองค์ และผงไม้ตะเคียนทองนี้เอง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สีสันของสีน้ำตาลนั้น เกิดความอ่อนแก่ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ สีน้ำตาลอมแดง หรือสีเปลือกมังคุดแห้ง จะเป็นชุดที่มีส่วนผสมของเนื้อผงว่านล้วนๆ กับผงไม้ตะเคียนทอง และจะมีลักษณะที่พิเศษคือ มีน้ำยางสีขาวใส ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ออกมาเคลือบที่ด้านหน้าขององค์พระ รูปพระพุทธสิหิงค์เนื้อแดง และ\n\n๔. เนื้อสีดำ ยังสามารถแยกออกเป็นสีดำเทา สีดำอมน้ำตาล, สีดำสนิท ลักษณะของเนื้อที่มีความแตกต่างกันทั้ง ๓ แบบ คือ ประเภทเนื้อปูนเปลือกหอยผสมกับผงถ่าน หรือไม้ตะเคียนทองผสมกับผงถ่าน ตามสัดส่วนมากน้อยที่แตกต่างกันออกไป เนื้อพระจึงออกไปทางสีดำสนิท หรือสีดำอมน้ำตาลดังที่เห็น\n\nดังที่กล่าวมา พระพุทธสิหิงค์ ปี ๓๐ เป็นวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมาในวาระสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวาระเดียวกันกับที่สร้าง พระผงสุริยัน-จันทรา เมื่อปี ๓๐ ตลอดจนเนื้อหามวลสาร รวมถึงพิธีปลุกเสก หากจะถามถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ คงจะไม่ต้องบรรยายให้มากความ เพราะเราท่านก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระผงสุริยัน-จันทรา ปี ๓๐ มีกฤษดาอภินิหารเช่นไร เมื่อแกงหม้อเดียวกัน หรือพิธีเดียวกันความเข้มขลังในตัว วัตถุมงคลของพระพุทธสิหิงค์ ปี ๓๐ ก็ย่อมเจิดจ้าจรัสแสงประดุจเพชรน้ำงามของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับการแขวนองค์พ่อจตุคามรามเทพxxxxxขอขอบคุณข้อมูลจาก ธนเดช จตุคามฯxxxxx |