รายละเอียด |
: |
พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อดิษฐ์พิมพ์เล็ก สวย แชมป์โลก วัดปากสระ พัทลุง อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า ดิษฐ์ หนูแทน เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2420 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 4 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู ที่บ้านดอนตาสังข์ หมู่ 6 ต.ปรางหมู่ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง เป็นบุตรคนเดียวของนายแก้ว และนางนุ้ย หนูแทน ในช่วงวัยเยาว์ เมื่อมีอายุสมควรได้รับการศึกษา โยมบิดามารดาได้พาไปฝากกับพระอาจารย์รอด วัดควนกรวด อ.เมือง จ.พัทลุง ด้วยความขยันและเอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียน ด.ช.ดิษฐ์ ได้มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียน จนสามารถอ่านเขียน รวมทั้งอ่านบทไหว้พระสวดมนต์จนมีความชำนาญ พร้อมกับได้อ่านเรียนหนังสือโบราณไทย ขอม ต่างๆ อีกด้วย กระทั่งเมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2441 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ณ พัทธสีมา วัดปรางหมู่ใน ต.ปรางหมู่ อ.เมือง จ.พัทลุง มีพระครูอินทรโมลี วัดปรางหมู่ใน จ.พัทลุง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการแก้ว วัดปรางหมู่ใน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการขำ วัดปรางหมู่นอก อ.เมืองพัทลุง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ติสสโร ภายหลังบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษา ที่วัดควนกรวด อ.เมืองพัทลุง ระยะหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2446 ได้มีชาวบ้านจากบ้านปากสระ ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง ได้นิมนต์ท่านให้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดปากสระ พ.ศ.2447 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากสระ พ.ศ.2489 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง พ.ศ.2497 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม พระครูเนกขัมมาภิมณฑ์ หลวงพ่อดิษฐ์ เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเยือกเย็น เมตตาปรานี ถือสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สินสมบัติ ชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยากหรือได้รับความความเดือดร้อนทางจิตใจ มักจะมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือ ซึ่งท่านก็ไม่เคยขัดข้องและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ ท่านยังให้การสนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือเด็ก ให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน จนเด็กๆ หลายคน สำเร็จการศึกษา ประกอบอาชีพการงานที่มั่นคง กล่าวกันว่า หลวงพ่อดิษฐ์ ท่านเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ พูดสิ่งใด มักเป็นไปตามนั้น สำหรับวัตถุมงคลของท่าน มีด้วยกันหลากหลายแบบ ทั้งเครื่องรางและพระเครื่อง ซึ่งหลวงพ่อดิษฐ์ได้เริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงครามอินโดจีนเป็นต้นมา อาทิ พระสังกัจจายน์พิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก, พระปิดตา พิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก, พระกลีบบัวเนื้อโลหะ, แหวนพิรอด, ลูกอม, ปลอกแขน, ผ้ายันต์และเสื้อยันต์ วัตถุมงคลของหลวงพ่อดิษฐ์ ล้วนแต่มีพุทธคุณเข้มขลัง โดดเด่นด้านมหาอุดอยู่ยงคงกระพันและมีเมตตามหานิยม แต่ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ปรารถนาจากบรรดาเซียนพระและนักสะสมนิยมพระเครื่อง คือ พระปิดตาและพระสังกัจจายน์ ซึ่งยังเป็นที่นิยมจนมาถึงปัจจุบัน นอกจากเป็นพระเกจิชื่อดังแล้ว หลวงพ่อดิษฐ์ ยังได้พัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดและชุมชนมากมาย ด้วยการก่อสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอฉัน โรงครัว และโรงเรียนประชาบาล 1 หลัง ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงพ่อดิษฐ์ มีอาการอาพาธตามสังขารที่ร่วงโรยตามวัย จนกระทั่งอาการเริ่มทรุดหนัก คณะศิษยานุศิษย์ จึงได้นำท่านไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพัทลุง แต่อยู่ได้เพียง 7 วัน ท่านได้ขอกลับวัด วันที่ 7 กันยายน 2507 เวลา 24.30 หลวงพ่อดิษฐ์ ได้มรณภาพไปด้วยอาการสงบ สร้างความเศร้าสลดและความอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์ ญาติมิตร และพุทธบริษัทของวัดอย่างสุดซึ้ง ตลอดชีวิต หลวงพ่อดิษฐ์ ติสสโร อาศัยในร่มเงาพระพุทธศาสนา ประกอบคุณงามความดีด้วยจิตใจที่ผ่องแผ้ว แม้ว่าจะละสังขารไปแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดีที่ได้ประกอบศาสนกิจมาตลอดชีวิต ยังคงปรากฏอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองพัทลุงอย่างมิลืมเลือน ในฐานะปูชนียบุคคล |