รายละเอียด |
: |
********** ประวัติ เหรียญจับโป้ยล่อฮั่น (หรือ ๑๘ อรหันต์) เป็นเหรียญที่ระลึก พิมพ์ทรงกลม มีขนาดใหญ่ ด้านหน้าจำลองรูป พระอรหันต์ ๑๘ องค์ **********
เหรียญที่ระลึกไทยของไทย ที่ปรากฏรูป และเรื่องราวคติความเชื่อแบบ ตำนานจีน ตามหลักฐานที่มีการจัดสร้างขึ้นเป็น ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ (รศ.๑๑๐) นั้น เป็นเหรียญที่ระลึกที่ออกเนื่องในพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งได้มีบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร เป็นการใหญ่ มีสมโภชแลแห่ไปทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วฉลองที่นั่น แต่ในคืนนั้น เสด็จประทับแรม ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม บ่ายแห่งวันรุ่งขึ้น เสด็จมาประทับวัดนี้ เสด็จอยู่ที่พระปั้นหยา ออกพรรษาแล้ว ทรงถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์สักกบัพพ์ โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทำสำเภาเป็นกัณฑ์เทศน์ ทรงผนวชอยู่ ๕ เดือน ก็ทรงลาผนวช **********
เหรียญจับโป้ยล่อฮั่น (หรือ ๑๘ อรหันต์) เป็นเหรียญที่ระลึก พิมพ์ทรงกลม มีขนาดใหญ่ ด้านหน้าจำลองรูป พระอรหันต์ ๑๘ องค์ ตามคตินิยมในพระพุทธศาสนา แบบมหายานฝ่ายจีน หากเริ่มนับเรียงจากองค์แรก คือ องค์กลาง ที่ทำท่าต่อสู้อยู่กับมังกรแล้ว สังเกตท่วงท่า การแสดงตนกับอากัปกิริยา, การถือสิ่งของ (อาวุธ) มงคล จะได้ชื่อตามนี้ คือ **********
องค์ที่ ๑ พระอรหันต์ปราบมังกร *********
องค์ที่ ๒ ปินโฑล ภารัทวาช ใครสักการบูชาท่านจะมีกุศลมาก ลักษณะพิเศษของท่าน คือ ถ้ามีผู้ใดเลี้ยงพระ ท่านก็จะปลอมแปลงเป็นพระธรรมดา แอบเข้าไปร่วมฉันด้วย รูปของท่านเป็นคนผอมเห็นซี่โครง บ้างทำท่ายืน บ้างก็นั่ง มือถือหนังสือ อีกมือถือบาตร หรือมือทั้งสองถือหนังสือ หรือวางบนเข่า ข้างกายด้านขวาอาจมีไม้เท้า บ้างครั้งพบรูปจำลองท่านในท่าหยิบบาตรก็มี **********
องค์ที่ ๓ กนกวัจฉ แปลว่า ลูกโคทอง ท่านเป็นสาวกที่สามารถในบรรดาลัทธิธรรมต่างๆ สามารถนั่งเข้าฌานกลางลมฟ้าลมฝนได้ รูปของท่านเป็นผู้นั่งห้อยเท้าขวา มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายวางที่ฝ่าเท้าซ้าย **********
องค์ที่ ๔ กนกภารัทราช เป็นฤาษี ๑ใน ๗ มหาฤาษีสถิตอยู่บุรพวิเทหทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๖๐๐ องค์ เป็นบริวาร รูปท่านั่งยกเท้าซ้ายขึ้นจากรองเท้า มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายอยู่ข้างหู เป็นรูปคนแก่ผมยาว **********
องค์ที่ ๕ สุปินฑ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ผลเมื่ออายุ ๑๒๐ ปี รูปของท่านเป็นคนแก่นั่งสมาธิ มือถือหนังสือ บ้างก็ทำเป็นรูปนั่งธรรมดา มีบาตรและกระถางธูปวางอยู่ข้างๆ องค์ **********
องค์ที่ ๖ นกุล แปลว่า พังพอน สถิตอยู่ชมพูทวีป พร้อมด้วยผู้ติดตาม เป็นพระอรหันต์ ๘๐๐ องค์ ชอบอยู่โดดเดี่ยว รูปของท่าน เป็นรูปพระนั่งห้อยเท้า มีพังพอนอยู่ข้างๆ หรือไม่ก็เป็นรูปกบสามขาอยู่ใต้รักแร้ หรืออาจทำท่าแบมือทั้ง **********
องค์ที่ ๗ ภัทร แปลว่า ประเสริฐ สถิตอยู่ตามทวีป พร้อมด้วยผู้ติดตามเป็นพระอรหันต์ ๙๐๐ องค์ บ้างว่าท่านเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า บ้างว่ามีสกุลสูง รูปท่านมีเสืออยู่ข้าง ๆ แสดงว่าเป็นผู้ปราบเสือได้ **********
องค์ที่ ๘ กาลิก แปลว่า เวลาชั่วเวลา ท่านเป็นพระที่พระเจ้าพิมพิสารนับถือ รูปของท่านเป็นชายชราคิ้วยาวจรดดิน ต้องใช้มือถือเอาไว้ บ้างก็ทำท่าถือฉาบทั้งสองข้าง **********
องค์ที่ ๙ วัชรบุตร สถิตอยู่บรรณทวีป พร้อมผู้ติตามพระอรหันต์ ๑,๑๐๐ องค์ รูปของท่านนั่งห้อยเท้า ถือไม้เท้าขักขระ เป็นไม้เท้าที่บนยอดมีโลหะทำช่องเป็นวงกลม สำหรับร้อยแหวนโลหะ เมื่อเขย่าจะเกิดเสียง เวลาเดินทางในป่า จะทำให้สัตว์เลื้อยคลานได้ยินเสียงแล้วหนีไป **********
องค์ที่ ๑๐ สุปากะ สถิตอยู่เขาคันธมาทย์ รูปของท่านนั่งห้อยเท้า มือถือพัด หรือทั้งสองมือถือประคำ **********
องค์ที่ ๑๑ ปันถก แปลว่า ทาง ท่านเป็นพระที่ยอดเยี่ยมในปัญญา สามารถแก้ความสงสัยในอรรถธรรมให้แจ่มแจ้งได้ รูปของท่านนั่งห้อยเท้าบนหลังสิงห์ บ้างนั่งห้อยเท้า และทรมานพระยานาคให้เข้าอยู่ในบาตร **********
องค์ที่ ๑๒ นาคเสน สถิตอยู่บนเขาปาณพ พร้อมด้วยพระอรหันต์ติดตาม ๑,๒๐๐ องค์ รูปของท่านนั่งห้อยเท้า มือซ้ายยกสูงเพียงหู มือขวาวางอยู่บนเข่า **********
องค์ที่ ๑๓ อิงคท เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง ร่างกายสะอาดมาก มีกลิ่นหอม รูปนั่งห้อยเท้า อ้วนสมบูรณ์ ร่าเริง แต่มีบ้างที่ทำท่านด้วยรูปคนแก่ถือไม้เท้า หรือไม่ก็ถือบาตร หรือถือหนังสือ **********
องค์ที่ ๑๔ วันวาสี แปลว่าอยู่ป่า สถิตอยู่ภูเขาวัตสะ พร้อมด้วยหมู่พระอรหันต์ ติดตาม ๑,๔๐๐ องค์ รูปของท่านนั่งห้อยเท้าอยู่หน้าปากถ้ำ หลับตาเหมือนเข้าฌาน บ้างถือหนังสือ หรือไม่ก็ยกนิ้วทำมุทธา **********
องค์ที่ ๑๕ อชิต แปลว่าชนะไม่ได้ รูปนั่งห้อยเท้า ชรา ขนคิ้วยาว มือวางบนเข่า ที่หน้าอกมีรูปหน้าคน **********
องค์ที่ ๑๖ จูฑะปันถก แปลว่า คนทางเล็ก สถิตอยู่บนเขาเนมินธร พร้อมด้วยพระอรหันต์ติดตาม ท่านเป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เมื่อแรกอุปสมบทมีปัญญาโง่ทึบ แต่ต่อมาบรรลุอรหันต์ผล เชี่ยวชาญในวิชามโนมยิทธิ รูปนั่งห้อยเท้า มือขวาถือถ้วย มีนกกำลังจิบน้ำ **********
องค์ที่ ๑๗ นนทิมิตร กล่าวกันว่า ท่านมีพระอรหันต์สถิตเป็นบริวารถึง ๑,๗๐๐ องค์ **********
องค์ที่ ๑๘ ราหุล สถิตอยู่ปริยังคุทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์ติดตาม ๑,๑๐๐ องค์ ท่านเป็นพระพุทธชิโนรส พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านจะได้ไปเกิดเป็นเชษฐโอรสของพระอานนท์ ฉะนั้น จึงมีสมญานามว่า โอรสพระอานนท์ รูปท่านบ้างทำเป็นผู้มีศีรษะใหญ่โต ตาโต จมูกเป็นขอ บ้างก็เป็นรูปคนธรรมดา มือทั้งสองข้างอุ้มเจดีย์ ********** ด้านหลัง มีอักษรไทยประดิษฐ์เลียนแบบตัวอักษรจีน อ่านจากบนลงล่างความว่า ? การทรง พระผนวช ปีรศ๑๑๐ ส.พ.บ.รอ (ย่อมาจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) **********
คติความเชื่อจีน ความเชื่อไทย ปัจจุบันถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันไปจนบางครั้งไม่อาจแยกว่า อย่างไหนเป็นแบบไทย อย่างไหนแบบอย่างจีน (ในหลายๆ เรื่อง) รวมทั้งเรื่องของพิธีกรรมบางอย่าง ในบางครั้งไม่อาจแยกทำเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีทั้งสองพิธีกรรม มิฉะนั้นจะถูกหาว่าไม่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตามพิธี ********** เช่นเดียวกันกับพิธีกรรมทางพุทธ กับพราหมณ์ เวลานี้ก็แทบจะแยกกันไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกันกับพสุธาที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ที่ชาวตะวันตกเรียกว่า**อินโดจีน** คือแหล่งหรือแผ่นดินที่ชนเผ่าผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้มีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมผสมผสานกันระหว่างอินเดีย(อินโด)กับจีน(ไชน่า) นั่นเอง
|